Skip to main content

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต กระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน ร่วมสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต “ดวงตาแรงงาน” สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

 

   วันที่ 25 มีนาคม 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีปิดและมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต “ดวงตาแรงงาน” ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกำหนดให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)” ที่ต้องเร่งผลักดันและรวมพลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบ

          นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ร่วมปลูกฝังค่านิยมคุณธรรมจริยธรรมที่ดี สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองก่อนประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง พร้อมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความร่วมมือบูรณาการ  การทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายด้านต่าง ๆ ในสังคม ร่วมมือกันป้องกันการทุจริตอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกการอบรมสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และขยายเครือข่ายการป้องกันการทุจริตระดับพื้นที่ชุมชน ทุกท่านเปรียบเสมือนดวงตาของกระทรวงแรงงานที่มีความสำคัญ เข้ามาช่วยสอดส่อง เฝ้าระวัง และสามารถส่งต่อข้อมูล แจ้งเบาะแสทุจริตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหันมาร่วมกันสร้างเป้าหมายใหม่ของชาติในการต่อต้านการทุจริต ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะชน เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตและทำให้การทุจริตในสังคมไทยหมดสิ้นไป

          นายบุญชอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาพปัญหาการทุจริตในสังคมไทยปัจจุบันไม่ว่าจะด้วยการอาศัยอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่และอิทธิพลที่ตนมีอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น การฉ้อราษฎร์ยบังหลวง การใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อเห็นแก่พวกพ้อง และความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ ที่ข้าราชการหรือบุคคลใด ใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนความเป็นธรรม นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรีบเร่งแก้ไขอย่างยิ่ง ดังนั้นการที่ทุกท่านได้รับการอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมเติมเต็มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายการต้ายทุจริต มีบุคลิกภาพที่ดี และเทคนิคการพูดในที่ชุมชน เป็นวิทยากรตัวคูณที่มีศักยภาพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สอดส่อง แจ้งเบาะแส การทำการทุจริตในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะเป็นเครือข่ายต้านทุจริต ดวงตาแรงงาน ที่เข้มแข็ง สามารถสร้างระบบการประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนในระดับพื้นที่ ชุมชน เพื่อต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ สร้างสังคมแห่งคนดื ไม่ทนต่อการทุจริต เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เทิดทูนไว้ซึ่งการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งหวังให้ปัญหาการทุจริตในสังคมไทยหมดสิ้นไป” ปลัดฯ แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย

—————————————————————————-

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

25 มีนาคม 2565

TOP